ผ่านมาแล้ว 3 รุ่น ย้อนเส้นทาง “วอลเลย์บอลสาวไทย” ในเวที “ลูกยางชิงแชมป์โลก”

ย้อนรอยเส้นทางกว่า 24 ปี ของ “วอลเลย์บอลหญิงไทย” บนเวทีสุดยิ่งใหญ่อย่าง “ลูกยางชิงแชมป์โลก”

วันที่ 16 ก.ค. 65 ความเคลื่อนไหวหลังจบวอลเลย์บอลหญิง เนชันส์ลีก 2022 รอบ 8 ทีมสุดท้าย ซึ่ง ทีมชาติไทย อันดับ 14 ของโลก ภายใต้การนำทีม “โค้ชด่วน” ดนัย ศรีวัชรเมธากุล พลิกพ่ายเจ้าภาพ ตุรกี อันดับ 5 ของโลกไป 1-3 เซต 25-23, 15-25, 18-25 และ 21-25 ปิดฉากลูกยางเนชันส์ลีก ในฐานะทีมอันดับ 8 จากทั้งหมด 16 ทีม โดยโปรแกรมต่อไปของทีมตบสาวไทย จะเข้าร่วมการแข่งขัน วอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2022 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และประเทศโปแลนด์ ระหว่าง 23 กันยายน – 15 ตุลาคม ที่จะถึงนี้

การแข่งขัน เวิลด์ แชมเปี้ยน ชิพ หรือวอลเลย์บอลชิงแชมป์โลก จะจัดขึ้นทุกๆ 4 ปี โดยเป็นเวทีระดับโลกที่นักวอลเลย์บอลทั้งชายและหญิง ต่างอยากเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยกันทั้งนั้น โดยตบสาวไทยสามารถผ่านเข้าไปเล่นครั้งแรกเมื่อปี 1998 ภายใต้การนำทีมของ “โค้ชอ๊อต” เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร

สำหรับผลงานในปีที่ผ่านมาของทีมชาติไทยมีดังนี้

1. ปี 1998 : “โค้ชอ๊อต” เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร ที่เพิ่งจับงานคุมทีมหญิงได้เป็นปีที่ 2 พาทีมวอลเลย์บอลหญิง ผ่านเข้าไปเล่นลูกยางชิงแชมป์โลก ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้เป็นครั้งแรก โดยขณะนั้นนักกีฬาหลายคนเตรียมอำลาทีมชาติ เพราะมีอายุมากแล้ว อาทิเช่น มาลินี คงทัน, บุษบรรณ พระแสงแก้ว หรือ แอนณา ไภยจินดา ในปีนั้นทีมชาติไทยจบที่อันดับ 15 จากทั้งหมด 16 ทีม ด้วยการแข่ง 3 นัด แพ้ทั้ง 3 นัด เก็บไม่ได้แม้แต่เซตเดียว

2. ปี 2002 : ชิงแชมป์โลกครั้งนี้ ได้มีการเพิ่มทีมที่ได้สิทธ์เข้าร่วมการแข่งขันจากเดิม 16 เป็น 24 ประเทศ “โค้ชอ๊อต” เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร ส่งทีมผสมดาวตบรุ่นพี่อย่าง แอนณา ไภยจินดา, พัชรี แสงเมือง, ศรัญญา ศรีสาคร กับดาวรุ่งเลือดใหม่อย่าง วรรณา บัวแก้ว, อัมพร หญ้าผา หรือ ปลื้มจิตร์ ถินขาว และจบการแข่งขันทัวร์นาเมนต์นั้น ด้วยอันดับที่ 20 จากทั้งหมด 24 ทีม จากการแข่ง แพ้ 4 แมตช์ ชนะ 1 แมตช์ รวมถึงเก็บเซตมาจากจีนได้ 1 เซต และนี่ถือเป็นชัยชนะครั้งแรกบนเวทีชิงแชมป์โลกของตบสาวไทย

3. ปี 2006 : “โค้ชอ๊อต” ได้มีการเฟ้นหานักกีฬาหน้าใหม่ ผ่านโครงการ “ดรีมทีม” เพื่อมาทดแทนรุ่นพี่ ก่อนที่จะไม่ผ่านรอบคัดเลือกไปอย่างน่าเสียดาย

4. ปี 2010 : ทีมชาติไทยได้กลับไปเยือนเวทีชิงแชมป์โลกอีกครั้ง ด้วยนักตบฝีมือระดับโลกอย่าง ปลื้มจิตร์ ถินขาว, วิลาวัลย์ อภิญญาพงษ์, นุศรา ต้อมคำ, อรอุมา สิทธิรักษ์, มลิกา กันทอง, ปิยะนุช แป้นน้อย รวมถึง หัตถยา บำรุงสุข ที่เพิ่งโค่นจีน ผงาดคว้าแชมป์เอเชีย ไปเมื่อปี 2009 ส่วนผลงานในชิงแชมป์โลก เราถูกจับไปอยู่ร่วมสายกับแชมป์โลกอย่าง บราซิล, สหรัฐอเมริกา, อิตาลี, คิวบา และเยอรมนี แต่ก็จบด้วยอันดับ 13 จากทั้งหมด 24 ทีม ด้วยการชนะ 2 แพ้ 5 ซึ่งถือว่าเป็นอันดับที่ดีที่สุดในขณะนั้น

5. ปี 2014 : เป็นปีที่สมาคมกีฬาวอลเลย์บอล ต้องแบ่งนักกีฬาออกเป็น 2 ทีม เนื่องจากโปรแกรมการแข่งขันของลูกยางชิงแชมป์โลกและเอเชียนเกมส์ มีช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกัน โดย “โค้ชอ๊อต” คุมนักกีฬาไปแข่งรายการชิงแชมป์โลก อาทิเช่น พรพรรณ เกิดปราชญน์ (กัปตันทีม), อัจฉราพร คงยศ, โสรยา พรหมหล้า, ชัชชุอร โมกศรี (ขณะนั้นอายุ 15 ปี), และมีวรรณา บัวแก้ว ไปช่วยประคองทีม ก่อนจะจบทัวร์นาเมนต์นั้น ด้วยอันดับที่ 17 จากทั้งหมด 24 ทีม โดยลงแข่ง 5 นัด ชนะ 1 แพ้ 4 ส่วนอีกชุดที่ไปแข่ง เอเชียนเกมส์ ก็คว้าเหรียญทองแดงประวัติศาสตร์มาครอง

6. ปี 2018 : ตบสาวไทยชุดเหรียญเงิน เอเชียนเกมส์ 2018 ตบเท้าติดทีมไปเล่นเกือบยกชุด ประกอบด้วย ปิยะนุช แป้นน้อย, พรพรรณ เกิดปราชญ์, ทัดดาว นึกแจ้ง, ปลื้มจิตร์ ถินขาว, อรอุมา สิทธิรักษ์, วัชรียา นวลแจ่ม, วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์, นุศรา ต้อมคำ, ชิตพร กำลังมาก, มลิกา กันทอง, พิมพิชยา ก๊กรัมย์, อัจฉราพร คงยศ, ชัชชุอร โมกศรี และ สุพัตรา ไพโรจน์ ส่วนหัวหน้าผู้ฝึกสอนเป็น “โค้ชด่วน” ดนัย ศรีวัชรเมธากุล ที่เข้ามารับหน้าที่แทน “โค้ชอ๊อต” เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร ที่ประกาศอำลาทีมชาติ หลังจบทัวร์นาเมนต์ เวิลด์กรังปรีซ์ 2016 รอบสุดท้าย โดยผลงานของไทยครั้งที่แล้ว ปี 2018 สามารถผ่านเข้าสู่รอบที่ 2 หรือรอบ 16 ทีมสุดท้าย ก่อนตกรอบและได้อันดับที่ 13 ของการแข่งขัน ด้วยการลงแข่ง 9 นัด ชนะ 3 แพ้ 6 มี 11 คะแนน

7. ปี 2022 : วอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2022 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 กันยายน – 15 ตุลาคม ที่จะถึงนี้ ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และประเทศโปแลนด์ โดยทีมชาติไทยอยู่ร่วมสายกับ โปแลนด์ (เจ้าภาพร่วม), ตุรกี, โดมินิกัน, เกาหลีใต้ และ โครเอเชีย

สำหรับ “ตบสาวไทย” ชุดลุยวอลเลย์บอลหญิง เนชันส์ลีก 2022 มีนักกีฬา 8 คนที่เคยไปเยือน วอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลกมาแล้ว ประกอบไปด้วย ปิยะนุช แป้นน้อย, พรพรรณ เกิดปราชญ์, ทัดดาว นึกแจ้ง, วัชรียา นวลแจ่ม, พิมพิชยา ก๊กรัมย์, อัจฉราพร คงยศ, ชัชชุอร โมกศรี และ สุพัตรา ไพโรจน์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *