สแกนทัพ ‘ช้างศึก’ ใต้บังเหียน ‘บิ๊กอ๊อด’

ความล้มเหลวของทีมฟุตบอลไทยแต่ละชุดในช่วงหลังทำให้แฟนลูกหนังเริ่มจับตามองมาที่ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ภายใต้การบริหารงานของ “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคม

ตั้งแต่ซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ทีม “ช้างศึก” พลาดแชมป์ปล่อยให้คู่ปรับเวียดนามครองแชมป์ ต่อด้วยการตกรอบฟุตบอลยู-23 ชิงแชมป์เอเชีย

จนล่าสุดมาถึงทีม “ช้างศึก-ยู19” ตกรอบรองชนะเลิศชิงแชมป์อาเซียน ด้วยการพ่ายแพ้ต่อ ทีมชาติลาว

จนมีการปั่นกระแสเรียกร้องให้ “บิ๊กอ๊อด” ลาออกจากตำแหน่ง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ในโลกโซเชียล

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 “บิ๊กอ๊อด” เข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมต่อจาก “บังยี” วรวีร์ มะกูดี ตอนนั้นวงการฟุตบอลไทยกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลลีกที่มูลค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดสูงเป็นปีละพันล้านบาท

ภายใต้การนำทีมของ “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ที่ปลุกกระแสบอลไทยฟีเวอร์ ทีมชาติเตะเมื่อไหร่คนเต็มสนามเมื่อนั้น

หลังจากการเข้ามาของ “บิ๊กอ๊อด” ที่ต้องการเข้ามาทำให้วงการฟุตบอลไทยก้าวไปสู่ความเป็นสากล เป็นมืออาชีพให้มากขึ้น

ยกเลิกระบบผู้จัดการทีม และใช้วิธีการให้สมาคมเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับทีมชาติทั้งหมด

ดูเหมือนว่าวิธีที่ “บิ๊กอ๊อด” เลือกจะไวเกินไปสำหรับฟุตบอลไทย

ว่ากันว่าตำแหน่ง “ผู้จัดการทีม” ในประเทศไทยคือคนที่ควักเงินซัพพอร์ตทีมทุกด้าน เป็นคนจ่ายอัดฉีดให้ทีม

รวมถึงดูแลสารทุกข์สุกดิบของทีมชาติ ออกค่าใช้จ่ายยิบย่อยต่างๆ ให้กับทีมชาติเวลาไปแข่งขัน

เมื่อไม่มีคนที่ดูแลเป็นพ่อ-แม่ของนักเตะ ก็ดูจะทำให้ผลงานถดถอยลงไป

จนสุดท้ายบิ๊กอ๊อดต้องไปเชิญหลายๆ คนมาทำหน้าที่ตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็น ขจร เจียรวนนท์ รือล่าสุดที่ไปดึง “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ เข้ามาทำหน้าที่ผู้จัดการทีมควบทั้งชุดใหญ่และยู-23

โดยปล่อยมือให้บริหารจัดการเต็มที่!

อย่างไรก็ตาม ในการบริหารของสมาคมยุค พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง มีจุดที่เรียกว่าเป็นข้อดีอยู่เรื่องการดำเนินการของทีมชาติเป็นระบบระเบียบมากขึ้น จากที่ฟุตบอลช่วงฟีฟ่าเดย์มักจะถูกใช้แบบไม่มีประโยชน์ ไม่มีการอุ่นเครื่องในระดับนานาชาติเท่าที่ควร ไหนจะเวลาอุ่นเครื่องที่มักจะเจอการอุ่นเครื่องแบบเตะกันเองบ้าง หรือเตะกันแบบที่ฟีฟ่าไม่ได้รับรองบ้าง

แต่ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.สมยศ ช่วงฟีฟ่าเดย์คือช่วงสำคัญของทีมชาติทุกครั้งการอุ่นเครื่องจะต้องได้อุ่นกับทีมระดับนานาชาติ ที่เข้าเกณฑ์เป็นเกมที่รับรองโดยฟีฟ่า ได้รับแต้มสะสมอันดับโลก ทำให้จากเดิมที่อันดับโลกของไทยตกลงไปเกือบ 120 ตอนนี้กลับไปอยู่เลข 2 หลักได้แล้ว

นั่นคือสิ่งที่ทำให้เห็นว่าผลงานของทีมชุดใหญ่ไม่ได้มีปัญหามาก ส่วนหนึ่งเพราะนักเตะชุดใหญ่ตอนนี้ยังอยู่ในชุดที่ดี และมีฝีเท้าเกินระดับอาเซียนไปหลายคนแล้ว

ทว่าปัญหาสำคัญที่หยั่งรากฝังลึกคือ เรื่องของการพัฒนานักเตะระดับเยาวชน รวมถึงการละเลยความสำคัญของทีมรองๆ อย่างฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย, ทีมชุดยู-23, ทีมชุดยู-19, ทีมชุดยู-16 ฯลฯ

ตั้งแต่ที่เข้ามารับตำแหน่ง พล.ต.อ.สมยศตั้ง “เฮง” วิทยา เลาหกุล ขึ้นมาเป็นประธานฝ่ายพัฒนาเทคนิค เพื่อควบคุมดูแลทีมชาติทุกชุด พร้อมกับออกแบบแผนการฝึกซ้อมมาเป็นตำราเพื่อกระจายให้ทั่วประเทศไทย แต่สุดท้ายการทำงานของโค้ชเฮงยังไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

ความล้มเหลวและผิดพลาดมากที่สุดกับการตัดสินใจวางรากฐานเยาวชนของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯยุคนี้คือ การตั้งบริษัทเข้ามาวางโครงสร้างพัฒนานักกีฬาฟุตบอลไทยทั้งระบบ ตั้งแต่เยาวชนทั้งรุ่นยู-14, ยู-16, ยู-18 และยู-21 เพื่อจะสร้างรูปแบบการเล่นแบบ “ไทยแลนด์ สไตล์”

จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ใครบ้างที่รู้ว่า ไทยแลนด์ สไตล์ เล่นแบบไหน อย่างไร?

ที่ตอกย้ำความล้มเหลวที่สุดคือ เฮดโค้ชที่มาจากบริษัทอย่าง ซัลบา ซัลบาดอร์ บาเลโรการ์เซีย คือผู้ที่นำทีมยู-19 พ่ายต่อลาวในรอบตัดเชือกชิงแชมป์อาเซียนล่าสุดนั่นเอง

นอกจากนี้ สมาคมลูกหนังไทยว่าจ้าง การ์เลส โรมาโกซา ชาวสแปนิช เข้ามานั่งตำแหน่งประธานเทคนิคแทนที่โค้ชเฮง

แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่เห็นผลงานจากการทำงานของการ์เลสที่ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของวงการฟุตบอลไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสมาคมกีฬาฟุตบอลฯในยุค พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง สอบผ่าน ในเรื่องของการบริหารองค์กรที่ดูจะมีระเบียบ แบบแผน มีความชัดเจน เรื่องนี้ต้องชื่นชมว่าทำได้ดี

ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า ในยุค พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ไม่ผ่าน ในเรื่องของผลงานทีมฟุตบอลไทยเกือบทุกชุด

เป็นโจทย์ใหญ่ เป็นการบ้านที่คนระดับ บิ๊กอ๊อด พร้อมทีมงานสภากรรมการสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ รวมถึงผู้สนับสนุนต้องร่วมกันหาคำตอบ และแก้ไขเป็นการด่วน

เพราะผลงานฟุตบอลทีมชาติไทยกำลังอยู่ในช่วงขาลง เพราะนั่นมันจะส่งผลกระทบโดยตรงไปยังลีกฟุตบอลอาชีพของเมืองไทย

ล่าสุด สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ เริ่มขยับไปจับมือกับ ฟีฟ่า เป็นประเทศแรกของโลกที่จะได้ทดลองหลักสูตรการพัฒนาเยาวชนที่คิดค้นขึ้นมาโดย อาแซน เวนเกอร์ อดีตกุนซือทีม ปืนใหญ่ อาร์เซน่อล ที่ปัจจุบันเป็นหัวหน้าแผนกพัฒนาฟุตบอลของฟีฟ่า

โปรแกรมนี้จะเริ่มตั้งแต่การวางหลักสูตรการฝึกซ้อมที่เหมาะสมกับฟุตบอลไทย ต่อด้วยการอบรมผู้ฝึกสอนทั้งในระดับรากหญ้า และอคาเดมี เพื่อนำไปฝึกซ้อมให้กับเยาวชนไทย จากนั้นจัดการแข่งขันเพื่อติดตามผล และเก็บข้อมูล คัดเลือกนักกีฬาที่ดีที่สุดในแต่ละตำแหน่งเข้าแคมป์ทีมชาติ

ก่อนจะใช้เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป จากโปรแกรมนี้จะทำให้ประเทศไทยได้สร้างนักกีฬาในแต่ละรุ่นอายุขึ้นมาได้

วงการฟุตบอลไทยกี่ยุค กี่สมัย เรา ลองผิดลองถูก เรื่องการพัฒนาโครงสร้างนักเตะเยาวชนมาตลอด และยังไม่มีสักครั้งที่ประสบความสำเร็จ

ทุกวันนี้เราต้องยอมรับว่า ในระดับอาเซียน เรายังก้าวไม่ข้าม แต่เป้าหมายเราปักธงไว้มันไกลเกินไป เรายังคิดแต่เรื่องจะไป ฟุตบอลโลก

แม้จะมีการเตือนจากผู้สันทัดกรณีมาตลอดว่า ทางเดียวที่จะทำให้ ช้างศึก ไปฟุตบอลโลกได้คือ เราต้องพัฒนาทีมให้ก้าวข้ามระดับอาเซียน และพัฒนาไปสู่ทีมเบอร์ต้นๆ ของเอเชีย ไปสู้กับญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ซาอุดีอาระเบีย, อิหร่าน, ออสเตรเลีย ให้มันได้ก่อน

เมื่อนั้นเราค่อยมองไปที่ ฟุตบอลโลก

ที่สำคัญเราต้องพัฒนา วางรูปแบบ วางกรอบการเล่นให้ทีมชุดเยาวชนชุดเล็ก ชุดกลาง ชุดใหญ่ เล่นในแนวทางเดียวกัน มีสไตล์เดียวกัน มีระบบที่มันชัดเจน สต๊าฟโค้ชต้องทำฟุตบอลในสไตล์ที่เราเลือกว่า ดีที่สุด

หากเราทำได้ ผลงานทีมชาติไทยทุกชุดจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย แต่หากยังต่างคนต่างทำ เปลี่ยนสไตล์ไป-มาตามแต่โค้ชแต่ละคนที่หมุนเวียนสลับเข้ามา เราก็จะ พายเรืออยู่ในอ่างน้ำวน ชนิดหาทางออกยังไม่เจอ

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อยู่ในช่วงการบริหารงานสมัยที่ 2 ซึ่งจะครบวาระในช่วงต้นปี พ.ศ.2567 ถึงจะมีการเลือกตั้ง

ดังนั้น พล.ต.อ.สมยศจะต้องเริ่มลงมือผ่าตัดใหญ่ 2 ปี ยังมีเวลากับเป้าหมายสำคัญคือ ปรีโอลิมปิกเกมส์ 2024, ซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา, การป้องกันแชมป์เจ้าอาเซียนของทีมชุดใหญ่ ฯลฯ

เริ่มคิดใหม่ ทำใหม่ และลงมือทำในทันที!?!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *